ประวัติและที่มาของโครงการหลักสูตรปฏิบัติวปัสสนาภาวนา ๗ เดือน
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของคณะสงฆ์ไทย ที่นำคัมภีร์สัททาวิเสสซึ่งเป็นคัมภีร์หลักภาษาของภาษาบาลีและคัมภีร์พระไตรปิฎก มาจัดทำเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีตามหลักการและโครงสร้างในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษายุคปัจจุบัน โดยมีปณิธานที่แน่วแน่ในอันที่จะสร้างสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ให้เป็นสถานศึกษาทางพระพุทธศาสนาเพื่อสร้างบุคลากร ให้มีความรู้ความเข้าใจ ในพระสัทธรรมอย่างแท้จริง อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพระพุทธศาสนาสืบไป
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสมมหาเถระ ป.ธ.๙, Ph.D.) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระศรีสุทธิพงศ์ เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งในชื่อว่า “สถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาบาลีตามแนวคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูง อันได้แก่คัมภีร์สัททาวิเสส เพื่อเป็นการวางพื้นฐานความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาบาลี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการศึกษาพระไตรปิฎกได้อย่างถูกต้อง ตรงตามพระพุทธประสงค์ทั้งอรรถะและพยัญชนะ อันจะช่วยให้ถ่ายทอดอรรถสาระแห่งพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีสู่ภาษาไทย หรือภาษาอื่นใดโดยไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการจรรโลงพระสัทธรรมให้คงอยู่ชั่วกาลนาน การจัดตั้งสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส ได้เริ่มขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสมมหาเถระ ป.ธ.๙, Ph.D.) ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระศรีสุทธิพงศ์” เป็นอาจารย์สอนพระปริยัติ ธรรมแผนกบาลีชั้นประโยค ป.ธ.๗ สำนักเรียนวัดชนะสงคราม ได้ทราบว่าวัดท่ามะโอเปิดสอนวิชาภาษาบาลีตามหลักคัมภีร์ภาษาบาลีชั้นสูง อันได้แก่ คัมภีร์ไวยากรณ์, อภิธานัปปทีปิกา, วุตโตทัย และสุโพธาลังการ เมื่อเรียนจบคัมภีร์ทั้ง ๔ นี้แล้วผู้เรียนจะมีความรู้แตกฉานในภาษาบาลีเป็นอย่างดี สามารถวินิจฉัยศัพท์ วิจัยธรรมได้อย่างมีกฎเกณฑ์ และหลักการ
เมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสมมหาเถระ) ศึกษาพินิจพิเคราะห์หลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์แล้วเห็นว่า การศึกษาภาษาบาลีในปัจจุบัน ยังไม่สามารถที่จะทำให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญแตกฉานภาษาบาลีเพียงพอ ต่อการศึกษาวิเคราะห์อรรถสาระในคัมภีร์พระพุทธศาสนาได้อย่างลุ่มลึก ท่านจึงเริ่มงานด้านคัมภีร์สัททาวิเสสอย่างจริงจัง คัมภีร์แรกที่เริ่มศึกษาและดำเนินการปริวรรตจนจบเป็นเล่มคือ คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาฎีกา และเพื่อให้งานด้านการศึกษาคัมภีร์เหล่านี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ท่านจึงลาพักงานประจำต่างๆ ในขณะนั้น คืองานในตำแหน่งคณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงการณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์(ชื่อในขณะนั้น) งานในตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๓ และงานสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่วัดชนะสงคราม เป็นการชั่วคราว เดินทางไปจำพรรษาที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เพื่อศึกษาวิธีการ กระบวนการการเรียนการสอนคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูง และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูงทั้ง ๔ นั้น มาจัดการเรียนการสอนให้แพร่หลายทั่วไป
ช่วงเวลาที่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสมมหาเถระ) ไปจำพรรษาที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง มีโอกาสพบคัมภีร์ภาษาบาลีอีกมากมายที่ทรงคุณค่าต่อการศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะคัมภีร์ “อภิธานติปิฏกะ” หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า“ปทานุกรมพระไตรปิฎก” เป็นตำราปทานุกรมพระไตรปิฎกที่พระเถระนักปราชญ์ชาวพม่าได้ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยนำศัพท์บาลีจากพระไตรปิฎกทั้งหมดที่ไม่ซ้ำกันมากระจายรูปคำ หารากศัพท์ว่าเดิมเป็นมาอย่างไร มีความหมายอย่างไร และมีปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่เท่าใด หน้าใด หรือมีปรากฏในคัมภีร์อื่นๆ นอกจากพระไตรปิฎกหรือไม่
หลังจากจำพรรษาที่วัดท่ามะโอได้หนึ่งพรรษา ท่านก็ได้เดินทางกลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดชนะสงคราม และได้ดำเนินการขอต้นฉบับคัมภีร์อภิธานติปิฏกะจากสถานทูตพม่า (ชื่อในขณะนั้น) แล้วตั้งคณะทำงานเพื่อแปลเป็นภาษาไทย แต่ก็ประสบปัญหาเนื่องจากคณะทำงานไม่เคยเรียนคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูง จึงไม่สามารถวินิจฉัยศัพท์วิจัยธรรมได้อย่างมีกฎเกณฑ์และหลักการ พระพรหมโมลีเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้พระภิกษุสามเณรได้มีโอกาสศึกษาคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูง เมื่อพระภิกษุสามเณร ได้ศึกษาและแตกฉานคัมภีร์เหล่านี้แล้วก็จะสามารถศึกษาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาระดับต่างๆ ได้โดยง่าย ทั้งสามารถวินิจฉัยศัพท์วิจัยธรรมได้อย่างถูกต้อง ท่านจึงจัดทำโครงการจัดตั้งสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส ขึ้น เพื่อให้เป็นสถานศึกษาคัมภีร์ดังกล่าว โดยเริ่มแรกนั้น คุณมงคล-คุณวนิดา วัฒนเกียรติสรร เจ้าของบริษัทเมอร์รีคิงส์ จำกัด มีศรัทธาปวารณามอบที่ดิน ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เมื่อท่านได้ไปตรวจดูสภาพแวดล้อม เช่น การคมนาคม ก็พบว่าที่ดังกล่าว ไกลจากโคจรคามการเดินทางไม่สะดวก อาจมีปัญหาอุปสรรคมาก อีกทั้งทุนในการจัดตั้งและดำเนินการ ก็ยังมีไม่เพียงพอ จึงของดไว้ก่อน
ต่อมาพระครูสุนทรโฆษิต (แจ่ม ธุวาโภ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ ได้ปรารภว่า คุณยายพุฒ หุ่นสวัสดิ์ มีศรัทธายกที่ดินจำนวน ๑๖ ไร่ ๓ งาน ๓๖ ตารางวา เพื่อสร้างวัดมหาสวัสดิ์นาคพุฒาราม ปัจจุบันยังไม่มีพระสงฆ์ที่จะนำพาทายกทายิกาพัฒนาวัดต่อไปได้ ท่านพระครูสุนทรโฆษิตจึงได้ชักชวนให้พระพรหมโมลีมาดูสถานที่ เมื่อพระพรหมโมลีได้มาดูสถานที่แล้ว เห็นว่าเป็นที่สัปปายะดี ไม่ไกลจากการคมนาคมมาก และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ท่านพระครูฯ มอบให้พระพรหมโมลีมีอิสระในการดำเนินงานบริหารด้านการศึกษาได้อย่างเต็มที่ พระพรหมโมลีจึงจัดตั้งสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆสขึ้นที่วัดมหาสวัสดิ์นาคพุฒารามเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นต้นมา โดยมีสำนักงานทำหน้าที่บริหารชั่วคราวที่คณะ ๑๑ วัดชนะสงคราม บางลำพู กรุงเทพ ฯ
ยุครับรองสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส (พ.ศ. ๒๕๓๕)
เพื่อให้สถาบันฯ สามารถดำเนินงานบริหารได้อย่างเป็นระบบและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ คณะกรรมการบริหารสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส จึงดำเนินการนำคัมภีร์สัททาวิเสส มาจัดเป็นหลักสูตรชั้นบาลีศึกษา (ชั้นปฐมบาลีและมัธยมบาลี) และวางระเบียบในการจัดการเรียนการสอน เสนอสภากรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อสังกัดเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัย อันจะเป็นการเริ่มต้นแห่งการบริหารอย่างเป็นระบบ และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป สภากรรมการ บริหารมหาวิทยาลัยฯ มีมติที่ประชุมรับสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆสเข้าเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สังกัดสำนักงานอธิการบดี
ยุคเริ่มจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา (พ. ศ. ๒๕๓๗)
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสมมหาเถระ) จัดทำโครงการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) โดยนำคัมภีร์สัททาวิเสส มาเป็นวิชาพื้นฐานทางด้านภาษาบาลีและคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นวิชาเอก เพื่อเปิดรับพระภิกษุสามเณรเปรียญธรรม ๕ ประโยคขึ้นไปเข้าศึกษา เริ่มแรกได้จัดเป็นหลักสูตรระยะสั้น ๖๐ วัน เพื่อทดลองความเป็นไปได้ก่อน จากนั้นได้ขอความอุปถัมภ์เรื่องสถานที่สำหรับใช้ทดลองหลักสูตร จากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถร) วัดสามพระยา เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีเมตตานุเคราะห์ให้ใช้อาคารเรียนพระปริยัติธรรมได้ จึงเริ่มทำการทดลองใช้หลักสูตร ตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ผลการทดลองปรากฏว่าน่าพอใจ สร้างความมั่นใจในการใช้หลักสูตรมากยิ่งขึ้น
ยุคเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
โครงการทดลองจัดการศึกษาคัมภีร์สัททาวิเสส ณ วัดสามพระยาสิ้นสุดลง สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสมมหาเถระ) จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อจัดทำร่างระเบียบและหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์ โดยนำคัมภีร์พระไตรปิฎกมาจัดเป็นวิชาเอกและนำคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูง มาจัดเป็นวิชาแกนตามหลักการจัดหลักสูตรระดับอุดมศึกษาทั่วไป เสนอต่อมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อจัดการเรียนการสอน สังกัดคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สภากรรมการบริหารมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้สถาบันฯ ดำเนินจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ สถานบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส จึงได้เริ่มงานจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๓๗ และในปีนี้เองที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้เป็นปีทองของการศึกษาคณะสงฆ์ สภาการศึกษาของคณะสงฆ์โดยการเสนอของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีมติยกสถานภาพสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส เป็นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ในคราวประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๓๗ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ ทรงลงพระนามในประกาศคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๗
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๓/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีมติอนุมัติให้วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา อีกสาขาหนึ่ง ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๓ เป็นต้นมา
การจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิปัสสนาภาวนา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม มีปณิธานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งว่า จะจัดการศึกษาเน้นเฉพาะวิชาการทางพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ และตระหนักว่าพุทธธรรม อันเป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหลักคำสอนที่แสดงถึงมรรคาแห่งชีวิตอันประเสริฐแก่มวลมนุษยชาติ ประกอบด้วยหลักปริยัติอันเป็นส่วนทฤษฎี ปฏิบัติอันเป็นส่วนแห่งการลงมือกระทำ และปฏิเวธ คือ มรรคผลนิพพานอันเป็นผลแห่งการปฏิบัตินั้น กล่าวโดยสังเขปได้แก่ หลักแห่งศีล สมาธิ และปัญญา หรือเมื่อกล่าวโดยภารกิจ ได้แก่ คันถธุระอันเป็นส่วนปริยัติ และวิปัสสนาธุระอันเป็นส่วนปฏิบัติ ซึ่งมีผลเป็นปฏิเวธดังกล่าวมา การศึกษาหลักพุทธธรรมอย่างบูรณาการนั้น ต้องศึกษาทั้งภาคปริยัติธรรม ซึ่งได้แก่ คันถธุระ และภาคปฏิบัติธรรม อันได้แก่ วิปัสสนาธุระ จึงจะสามารถเข้าถึงปฏิเวธธรรมได้ในที่สุด
ในภาคปริยัติอันเป็นคันถธุระนั้น ได้มีการดำเนินการโดยอาศัยองค์กรต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการอย่างแพร่หลาย คือ การศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรม บาลี และระดับ มหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่ในภาคปฏิบัติอันเป็นส่วนวิปัสสนาธุระนั้น มิได้มีการจัดการ ดำเนินการอย่างเป็นระบบโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งอย่างเป็นทางการ ที่มีการปฏิบัติกันอยู่ในสำนักต่างๆ ก็เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ตามพื้นภูมิความรู้ของสำนักนั้นๆ ซึ่งการปฏิบัติที่มีปรากฏเหล่านั้น มีบ้างที่เหมือนหรือ คล้ายคลึงกัน มีบ้างที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละสำนักก็ยึดถือว่า การปฏิบัติของตน ถูกต้องตามพุทธธรรม ขณะเดียวกันก็ขาดหลักเกณฑ์มาตรฐานที่จะมาตัดสินว่า หลักปฏิบัติในสำนักใดถูกต้องตามหลักคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท อันได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม โดยการนำของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์(สมศักดิ์ อุปสมมหาเถระ) เมื่อครั้งเป็นพระพรหมโมลี ได้เสนอหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา สำหรับนิสิตระดับชั้นปริญญาโท เสนอมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสภามหาวิทยาลัยมีคำสั่งอนุมัติให้เปิดดำเนินการจัดการศึกษาได้ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ เป็นต้นมา เมื่อศึกษาครบกำหนดหน่วยกิตรายวิชาแล้ว นิสิตได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ติดต่อกันเป็นเวลา ๗ เดือน จึงจะมีสิทธิ์เสนอสอบวิทยานิพนธ์ตามหลักสูตร
พัฒนาพระสังฆาธิการด้านวิชาวิปัสสนาภาวนา
ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ได้คำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพด้านวิปัสสนาภาวนา ให้กับเจ้าคณะพระสังฆาธิการ และพระภิกษุสามเณรผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา ให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักวิปัสสนา จึงได้เสนอหลักสูตรประกาศนียบัตรการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยมีข้อกำหนดว่า เมื่อศึกษาครบหน่วยกิตแล้ว จะต้องเข้าปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาติดต่อกันเป็นเวลา ๓ เดือน สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีคำสั่งให้เปิดดำเนินการจัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรได้ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙
ทั้งสองหลักสูตรกล่าวคือ หลักสูตรประกาศนียบัตรการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา สำหรับพระสังฆาธิการและพระสงฆ์ทั่วไป และหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา ระดับปริญญาโท ได้นำหลักพุทธธรรมอันเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติ มาจัดเป็นหลักสูตรอย่างบูรณาการและเป็นระบบ โดยยึดหลักคัมภีร์พระไตรปิฎก และคัมภีร์ชั้นต่างๆ ของพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
เพื่อผลิตพระพุทธศาสตรมหาบัณฑิต พระสังฆาธิการ และพระภิกษุนักศึกษา ให้มีความรู้ แตกฉานเชี่ยวชาญทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ทำหน้าที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ มีความสามารถในการสอนธรรมนำปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักพุทธธรรม และเพื่อสร้างศาสนทายาท บูชาพระคุณองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อธำรงรักษาพระพุทธศาสนาสืบไป.